คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ได้ดำเนินการจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การพัฒนาโจทย์วิจัย เพื่อให้ได้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัย และเพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของคณะบริหารธุรกิจและการจัดการ” กิจกรรมส่งเสริมและการจัดการความรู้นักวิจัย
อย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567ในวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 ณ ห้องเรียน 15 – 205 อาคารเรียน 15 ชั้น 2 คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณาจารย์ที่เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการสามารถนำแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ที่ได้จากการอบรมนำมาพัฒนาโจทย์วิจัย เพื่อขอรับทุนสนับสนุนการวิจัย ทั้งจากหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ฯ รวมถึงเพื่อให้คณาจารย์ที่เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการสามารถนำแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ที่ได้จากการอบรมไปบูรณาการด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านวิชาการ และด้านชุมชนได้ ซึ่งทางคณะ ฯ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์พัฒนศักดิ์  ปทุมวัน อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการข้อมูลธุรกิจ  คณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี  เป็นวิทยากรการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้

          รูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการ ประกอบด้วย การบรรยายหัวข้อ “การพัฒนาโจทย์วิจัย เพื่อให้ได้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัย เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของคณะบริหารธุรกิจและการจัดการ”
และการฝึกปฏิบัติ หัวข้อ “การใช้ประโยชน์จาก AI ช่วยในการเขียน Proposal ของบประมาณสนับสนุนการทำวิจัยจากแหล่งทุนภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัญญาณี  อดทน เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมคือคณาจารย์และบุคลากรคณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี จำนวน 35 คน

ผลการดำเนินโครงการ

  1. คณาจารย์ได้แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) นำมาพัฒนาโจทย์วิจัย เพื่อขอรับทุนสนับสนุน
    การวิจัย ทั้งจากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ฯ และจากหน่วยงานภายนอกมหาวิทยาลัย ฯ และสามารถนำมาปรับใช้กับด้านการเรียนการสอน ด้านวิชาการ และด้านชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. คณาจารย์สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ช่วยในการเขียน Proposal ของบประมาณสนับสนุนการทำวิจัยจากแหล่งทุนภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ฯ ได้
  3. คณะ ฯ ได้แนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของการพัฒนาโจทย์วิจัย ดังนี้

             3.1 การวิเคราะห์และทำความเข้าใจกรอบการวิจัยและบริบทของแหล่งทุน คือส่วนแรกที่ต้องดำเนินการ และการวางแผนเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย เมื่อได้รับการสนับสนุนทุนแล้วสามารถยื่นขอการสนับสนุนต่อเนื่องหรือสามารถต่อยอดหรือขยายผลเพื่อเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย ที่สามารถนำไปขอรับการสนับสนุนจากแหล่งทุนอื่นได้

             3.2 การวางแผนเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย และการวางแผนการดำเนินงานหากได้รับทุนสนับสนุน การกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ระหว่างและสิ้นสุดการดำเนินงาน เป็นอีกแนวปฏิบัติที่ต้องคำนึงถึง เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับระยะเวลาและงบประมาณ หากได้รับการสนับสนุน เป็นแนวทางสำหรับหัวหน้าโครงการวิจัยในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่น ๆ นำไปใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ

3.3 การนำประสบการณ์จากการดำเนินงานจริง ปัญหาและวิธีแก้ปัญหา ผลลัพธ์ มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในคณะบริหารธุรกิจและการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้จากงานวิจัยให้กับผู้เรียน

          3.4 ข้อเสนอโครงการวิจัยควรคำนึงถึงผลลัพธ์และผลกระทบ เพื่อให้สามารถนำผลงานวิจัย
และบทความจากงานวิจัยประกอบการยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการที่เกิดจากผลของงานวิจัย
โดยคณาจารย์ที่ต้องการยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการสามารถนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้

4. คณาจารย์สามารถขอรับทุนวิจัยจากภายนอกเพิ่มมากขึ้น